Q&A : เฉลย 3 ปัญหาสุดฮิตเรื่องการลงทุน DW ที่ใคร ๆ ก็เจอได้

Share on
Copied

ไข 3 ปัญหายอดฮิตเกี่ยวกับการลงทุน DW

ประเด็นสำคัญ

#1. ปัญหา 1 : Effective Gearing สำคัญอย่างไร?

#2. ปัญหา 2 : ทำไม Sensitivity ขยับตลอดเลย?

#3. ปัญหา 3 : ราคาหุ้นเคลื่อนไหวแล้ว ทำไมราคา DW ไม่ขยับเลย?

                dw

     

     J.P. Morgan จึงขอนำ 3 ปัญหาสุดคลาสสิกของการลงทุน DW มาไขให้กระจ่าง ซึ่งปัญหาที่นำมาในวันนี้ บอกได้เลยว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หัดลงทุน หรือ เป็นนักลงทุนที่คร่ำหวอดในวงการมาอย่างยาวนานต้องเคยผ่านและเคยเจอมาแล้วทั้งสิ้น แต่จะมีอะไรกันบ้าง แล้วแต่ละข้อรับมือได้อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกัน

 

ปัญหา 1 : Effective Gearing สำคัญอย่างไร?

     “ราคาต้นทุนที่ไม่แพง” และ “ผลตอบแทนที่สูง” ถือเป็น 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาลงทุน DW แต่ทั้งนี้ การจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงนั้นยังต้องอาศัยประสบการณ์และการวางแผนการลงทุนที่รัดกุม และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งสำหรับการลงทุนในครั้งแรก ๆ นั้น นักลงทุนมือใหม่หลาย ๆ คนถึงต้องเจ็บตัว เพราะ ลืมพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ในการลงทุน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ว่านี้ คือ การพิจารณาราคาผ่าน Effective Gearing นั่นเอง

เข้าใจ Effective Gearing กันก่อน

     Effective Gearing หรืออัตราทด ถือว่าเป็นพื้นฐานที่นักลงทุนทุกคนต้องรู้ เพราะนอกจากจะช่วยบอกโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนเป็นหน่วยเปอร์เซนต์แล้ว นักลงทุนยังสามารถนำค่า Effective Gearing มาพิจารณาความเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน โดย Effective Gearing นั้นจะแสดงให้เห็นถึงราคาของ DW ที่เปลี่ยนแปลงจากราคาหุ้นหรือดัชนีที่มีการปรับขึ้นหรือลดใน 1%

ตัวอย่าง

     หาก Effective Gearing ของ DW ตัวที่สนใจมีค่า 5 เท่า นั่นก็หมายความว่า หากราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลง 1% ราคาของ DW ก็สามารถปรับขึ้นได้ประมาณ 5% หรือลดลง 5% ได้เช่นกัน

     ดังนั้น หากนำ Effective Gearing มาพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อหรือขาย นักลงทุนก็จะสามารถวางแผนและดูทิศทางของราคา DW ได้ดียิ่งขึ้น

Effective Gearing คำนวณอย่างไร

     เมื่ออ่านมาถึงส่วนนี้ หลาย ๆ คนคงอาจสงสัยว่า Effective Gearing นั้นมีที่มาจากไหนกันแน่? J.P. Morgan ขอสรุปให้ว่า Effective Gearing นั้นมาจากการนำตัวแปร 4 ตัวมาคำนวณ ได้แก่

     1. Delta หรือ ค่าที่บ่งบอกราคา DW ที่เปลี่ยนแปลงไปหากราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1 บาท หรือ 1 ค่าเงินตามประเทศที่ลงทุน

     2. Conversion Ratio (Exercise Ratio) คือ การเทียบว่ามูลค่าหุ้นอ้างอิง 1 หุ้นจะมีค่าเท่ากับ DW กี่หน่วย

     3. Underlying Price (UL) หรือ ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง

     4. ราคา DW 

     โดย Effective Gearing จะสามารถคำนวณได้จาก

 

 อัตราทด (Effective Gearing) =  (Delta x Conversion Ratio) x UL Price / DW Price 

 

     ทั้งนี้ ค่า Delta  จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาด ในขณะที่ Conversion Ratio ถูกกำหนดโดยผู้ออก DW และจะเปลี่ยนแปลงถ้าหุ้นอ้างอิงมีการประกาศนโยบายให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น การปรับ Conversion Ratio เป็นไปเพื่อไม่ให้นักลงทุนได้รับผลกระทบทางราคาจากการที่ผู้ถือ DW ไม่ได้สิทธิดังเช่นนักลงทุนที่ถือหุ้น  นั่นหมายความว่า การที่นำอัตราทดหรือ Effective Gearing มาประกอบจะช่วยวางแผนลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเองควรหมั่นตามข่าวสารจากผู้ออก DW เช่นเดียวกัน

Effective Gearing สูง ก็ยังต้องระวังเช่นกัน

     แต่ถึง Effective Gearing จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้นักลงทุนได้พิจารณาผลตอบแทนและความเสี่ยงได้ขนาดไหน แต่อย่าลืมว่า Effective Gearing ที่สูงก็มาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นเดียวกัน อย่างที่บอกไปข้างต้น หาก Effective Gearing มีค่าสูง ตอนได้กำไรก็จะได้สูง หากขาดทุนเมื่อไหร่ก็จะขาดทุนเยอะเช่นเดียวกัน ดังนั้น นักลงทุนควรเลือก Effective Gearing ที่เหมาะสมกับแผนการลงทุน และความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว

ปัญหา 2 : ทำไม Sensitivity ขยับตลอดเลย

 

DW

 

     Sensitivity ถือเป็นปัจจัยลำดับแรก ๆ ที่นักลงทุนมือใหม่และมือเก๋าให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะ Sensitivity นั้นเป็นค่าที่จะช่วยให้นักลงทุนได้มองเห็นถึงทิศทางราคาของ DW ที่สนใจได้ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ยังมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้ว Sensitivity นั้นเป็นค่าที่สามารถขยับได้เรื่อย ๆ และไม่ได้หยุดอยู่นิ่ง ๆ เหมือนที่หลาย ๆ คนเข้าใจ

Sensitivity คืออะไร?

     Sensitivity หรือค่าความอ่อนไหวนั้นเป็นตัวบ่งบอกที่จะทำให้นักลงทุนทราบถึงว่า ราคาของ DW จะเปลี่ยนแปลงไปกี่ช่องราคาเมื่อราคาหุ้นหรือดัชนีที่ DW อ้างอิงอยู่เปลี่ยนแปลง 1 ช่องราคาสำหรับหุ้นหรือ 1 จุดดัชนีสำหรับดัชนี SET50 (สำหรับดัชนีต่างประเทศขึ้นกับผู้ออกกำหนด) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว นักลงทุนจะชอบให้ค่า Sensitivity เข้าใกล้ 1 เพราะจะมีการเคลื่อนไหวแบบช่องต่อช่อง ทำให้สะดวกต่อการวางแผนลงทุน

     เมื่อเป็นเช่นนี้ นักลงทุนจะสามารถเห็นความสัมพันธ์ในเรื่องราคาได้ง่าย ๆ ว่า หากค่า Sensitivity เป็นบวกนั่นก็หมายถึงราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงกับราคา DW จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน  และในทางตรงกันข้าม หากค่า Sensitivity เป็นลบ ราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงกับราคา DW จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม แต่อย่งไรก็ตาม ค่า Sensitivity จะมีการวิ่งขึ้นและลงอยู่ตลอดตามขึ้นกับประเภทของ DW ดังที่จะกล่าวในหัวข้อถัดไป

ราคาหุ้นหรือดัชนี, ราคา DW และค่า Sensitivity สัมพันธ์กันอย่างไร?

     อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า DW นั้นเป็นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งขาขึ้น (Call) และขาลง (Put) ดังนี้ J.P. Morgan ขอแบ่งประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างราคา DW และ Sensitivity เป็น 2 ประเภทคือ

Call DW

     ในการสร้างผลตอบแทนช่วงขาขึ้น  หากราคาหุ้นหรือดัชนี ปรับตัวสูงขึ้น ราคา Call DW ก็จะปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นค่า Sensitivity จะปรับตัวสูงขึ้น

Put DW

     แต่สำหรับการสร้างผลตอบแทนช่วงขาลง หากราคาหุ้นหรือดัชนี ปรับตัวลดลง ราคา Put DW  ก็จะปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นนั้น ค่า Sensitivity ก็จะปรับตัวสูงขึ้น

     ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถ้านักลงทุนเลือกทิศทางการลงทุนได้อย่างถูกต้องแล้ว นอกจากสามารถทำกำไรได้จากการลงทุน DW แล้วก็ยังได้รับประโยชน์หากถือ DW ก็ไปในลักษณะ run trend เนื่องจากว่า DW ตัวดังกล่าวก็จะมีค่า Sensitivity ที่สูงขึ้น แต่ถ้าหากนักลงทุนเลือกทิศทางการลงทุนที่ผิดทิศ นอกจากจะขาดทุนจากราคา DW แล้วจะยังพบว่า DW ตัวดังกล่าวมีค่า Sensitivity ที่ลดลง

ติดตาม Sensitivity ได้อย่างไร?

     จะเห็นได้ว่าค่า Sensitivity นั้นจะขึ้นอยู่กับ “ราคาของหุ้นหรือดัชนีอ้างอิง” ดังนั้น หากนักลงทุนคนไหนต้องการนำค่า Sensitivity มาประกอบการวางแผนการลงทุน DW ก็ควรติดตามข่าวสารของหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงอยู่เป็นประจำเพื่อดูทิศทางของ Sensitivity 


ปัญหา 3 : ราคาหุ้นเคลื่อนไหวแล้ว ทำไมราคา DW ไม่ขยับเลย?

     “ความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นและราคา DW” นั้นถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่นักลงทุนหลายคนถึงกับต้องกุมขมับ เพราะหลาย ๆ ครั้ง เวลาหุ้นอ้างอิงขยับ แต่ราคา DW กลับไม่ขยับไปดื้อ ๆ

ปัญหานี้มาจากไหน?

     การขยับของราคาที่ไม่เท่ากันจะขึ้นอยู่กับค่าของ Sensitivity เป็นหลัก โดยนอกจากจะเปลี่ยนแปลงตามราคาของหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงแล้ว Sensitivity ยังเปลี่ยนแปลงเมื่อช่วงราคาของหุ้น (Tick size) เปลี่ยนแปลงด้วย กล่าวก็คือ หากหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงช่วงราคา ราคา เช่น ช่วงราคาขั้นตํ่าที่ช่องละ 0.10 บาท เป็น ช่วงราคาช่องละ 0.05 บาท ค่า Sensitivity ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงลดลงตามสัดส่วนช่วงราคาที่ลดลง

ตัวอย่างเช่น

DW อ้างอิงกับหุ้นแม่ A และมี Sensitivity เท่ากับ 0.5

    หากหุ้นแม่ปรับตัวขึ้น 1 ช่อง ราคาของ DW ก็จะอยู่ที่เดิม และถ้าอยากให้ราคา DW เพิ่มขึ้นก็ต้องรอให้หุ้นแม่ขยับ 2 ช่อง

DW อ้างอิงกับหุ้นแม่ B และมี Sensitivity เท่ากับ 1

     หากราคาหุ้นแม่ปรับตัวขึ้น 1 ช่อง ราคาของ DW ก็จะขยับขึ้น 1 ช่องเช่นกัน

DW อ้างอิงกับหุ้นแม่ C มี Tick Size 0.10 บาท และมี Sensitivity เท่ากับ 1

    หากราคาหุ้นแม่ปรับตัวลงข้าม Tick Size ส่งผลให้ Tick Size กลายเป็น 0.05 บาท ค่า Sensitivity จะลดลงเป็น 0.5

DW อ้างอิงกับหุ้นแม่ D มี Tick Size 0.05 บาท และมี Sensitivity เท่ากับ 0.5

    หากราคาหุ้นแม่ปรับตัวสูงขึ้นข้าม Tick Size ส่งผลให้ Tick Size กลายเป็น 0.10 บาท ค่า Sensitivity จะ้เพิ่มขึ้นเป็น 1.0

 

หากเกิดเหตุการณ์นี้ คุณควรทำอย่างไร?

     หากนักลงทุนคนไหนพบว่าราคา DW นั้นไม่สัมพันธ์กับราคาของหุ้นหรือดัชนีอ้างอิง สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ให้กลับมาพิจารณา Sensitivity ให้ดี จากนั้นค่อยมองหาแผนการลงทุนที่เหมาะกับสถานการณ์นั้น ๆ หรือถ้าหากพบความผันผวนที่สูงมากและ Sensitivity อาจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นักลงทุนควรกลับมาพิจารณาความเสี่ยงที่ตนเองรับไหวก่อนตัดสินใจลงทุน

     สุดท้ายนี้ J.P. Morgan หวังว่าความอธิบายของทั้ง 3 ปัญหาที่นำมาฝากในวันนี้จะช่วยให้นักลงทุนได้คลายความสงสัย และรู้วิธีรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในขณะระหว่างลงทุน DW ได้ และที่สำคัญ หากนักลงทุนท่านไหนอยากเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลงทุนในหุ้นแม่และดัชนีทั้งไทยและต่างประเทศกับสถาบันการเงินระดับโลก ในขณะนี้ J.P. Morgan ได้ออก DW41 มาให้นักลงทุนทุกท่านได้ร่วมลงทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถเริ่มต้นการลงทุนกับนักลงทุนสถาบันที่คุณไว้ใจได้แล้ววันนี้ในราคาเริ่มเพียงหลักร้อยเท่านั้น

 

Share on
Share on
Copied

Trending Articles