ลงทุนทั้งที เลือก DW แบบไหนดี? เทคนิคที่นักลงทุนห้ามพลาด

2020-04-17

ความรู้เบื้องต้น DW ตอนที่ 5 : วิธีการเลือก DW

 

ประเด็นสำคัญ

#1. เทคนิคการเลือก DW

#2. ข้อดีและข้อเสียของ DW

 

     ในปัจจุบัน มีรูปแบบการลงทุนเกิดขึ้นมากมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้กระจายความเสี่ยงด้วยเครื่องมือการลงทุนประเภทต่าง ๆ ได้ตามลักษณะที่ตรงกับสไตล์การลงทุนของตัวเองมากขึ้น หนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งเหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของหลาย ๆ คนก็คือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ Derivative Warrant (DW) ซึ่งนักลงทุนสามารถทำกำไรได้จากการใช้สิทธิ หรือรับเงินสดส่วนต่างเมื่อถือ DW จนครบกำหนดอายุ เมื่อนักลงทุนได้ทำความรู้จักกับ DW ในเบื้องต้นผ่านบทความก่อนหน้าของ J.P. Morgan กันไปแล้ว ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงวิธีการเลือก DW เพื่อให้คุณมีข้อมูลที่จำเป็นประกอบการตัดสินใจมากขึ้น

 

เทคนิคการเลือก DW

     เนื่องจากการซื้อขาย DW นั้นเป็นการซื้อขายเพื่อในระยะสั้น โดยราคาของ DW จะเคลื่อนไหวโดยอ้างอิงกับราคาของหลักทรัพย์อ้างอิง และมีความผันผวนค่อนข้างมาก ดังนั้น นักลงทุนจะเลือก DW ยังไง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการซื้อขายมากที่สุด? J.P. Morgan ขอแนะนำเคล็ดลับในการลงทุนที่นักลงทุนสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และรูปแบบการเทรดของตัวเองได้ ดังนี้

 

1. เลือก DW แบบไหนดี?

     อันดับแรกของการลงทุนก็คือการเลือกหลักทรัพย์อ้างอิงนั่นเอง ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวว่าวิธีการเลือก DW ต้องทำตามกฎข้อไหน แต่โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนหลายคนมักจะแนะนำให้เลือกลงทุนใน DW ที่เคลื่อนไหวตามหลักทรัพย์อ้างอิงในกลุ่มธุรกิจที่นักลงทุนคุ้นเคย ลองถามตัวเองว่า สนใจติดตามข่าวสารหรืออยากลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทไหนเป็นพิเศษหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยหาข้อมูลของหุ้นแต่ละตัว รวมไปถึงลักษณะการเคลื่อนไหวในตลาด การ Bid-Offer มักมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอย่างไร และ Corporate Action ของหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นเช่นไร ตัวอย่างเช่น มีการจ่ายเงินปันผลหรือแจก Warrants หรือไม่ นอกจากนี้ อย่าลืมดู Tick Size และประเภทของหลักทรัพย์อ้างอิงที่เราจะเลือกซื้อ DW ว่าเป็นดัชนีธรรมดาหรือ Futures เพราะจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

     อย่างไรก็ตาม หากใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกลงทุนใน DW แบบไหนดีที่เป็นหุ้นรายตัว (Single Stock) ก็สามารถเลือกลงทุนโดยอ้างอิงกับดัชนีเลยก็ได้ อย่างที่ J.P. Morgan เราออก DW41 ซึ่งอ้างอิงราคากับดัชนีทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น ดัชนี SET50, S&P500, NASDAQ-100 และ Dow Jones และยังเปิดให้ลงทุนใน DW ที่อ้างอิงหุ้นรายตัวเช่นกัน

 

2. เลือกตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม

     ว่าด้วยเรื่องการเลือก DW ต้องดูตรงไหนบ้างนั้น นอกจากจะเลือกลงทุนในกลุ่มธุรกิจหรือดัชนีที่สนใจแล้ว อย่าลืมดูลักษณะของ DW ให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้  และสัมพันธ์กับระยะเวลาการถือครองที่คุณต้องการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

     - Run Trend การถือครอง DW ระยะยาว มากกว่า 7 วัน ควรเลือก DW ที่มีค่า Time decay น้อยที่สุด ควบคู่กับ Effective Gearing ที่สูง โดย Effective Gearing คือ อัตราทด เป็นค่าที่บอกว่า หากหลักทรัพย์อ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1% DW ตัวนั้นจะมีอัตราเปลี่ยนแปลงที่สูงกว่า โดยต้องอย่าลืมพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างราคาเป้าหมายและ Time Decay ที่จะถูกหักออกจากราคาด้วย เนื่องจากยิ่งถือครอง DW ไว้นานก็อาจมีความเสี่ยงเรื่องค่าเสื่อมราคา

     - Buy and Hold การถือครอง DW ระหว่างระยะเวลา 3-7 วัน เป็นการถือครองระยะปานกลาง วิธีการเลือก DW สำหรับกลุ่มนี้ คือ ให้เลือกตัวที่ไม่โดนหักค่า Time Decay ภายใน 7 วัน และต้องมี Effective Gearing สูง

     - Overnight เป็นการถือครอง DW ในระยะเวลา 1-2 วัน นักลงทุนควรเลือก DW ที่มี Sensitivity ใกล้ 1 เพื่อที่เมื่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงปรับตัว จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาของ DW มากนัก และยังคงต้องระวังค่า Time Decay อยู่

     - Trading เป็นการซื้อขาย DW ภายในวันเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่มีปัจจัยเรื่องค่าเสื่อมเวลามาเกี่ยวข้อง ควรเลือก DW ที่มี Sensitivity ใกล้ 1 เพื่อให้เหมาะกับความเสี่ยงในการซื้อขายภายในวันเดียวกัน และหลีกเลี่ยงการซื้อขาย ณ ราคาปิด

 

3. ตรวจสอบค่าต่าง ๆ ในตารางให้รอบคอบ

     เมื่อนักลงทุนใช้เทคนิคเลือก DW ที่เหมาะสมกับรูปแบบการเทรดที่ตัวเองต้องการได้แล้ว อย่าลืมตรวจสอบตารางราคา ตลอดจนมูลค่าการ Bid และ Offer ทั้งของ DW และของหลักทรัพย์อ้างอิงได้ที่นี่ เพื่อจะได้เลือกลงทุนใน DW ที่เหมาะสมกับสไตล์การเทรดของตัวเอง

 

ข้อดีและข้อเสียของ DW

     สุดท้ายนี้ ก่อนจะใช้วิธีการเลือก DW ที่เรานำเสนอไปปรับใช้กับการลงทุนจริง ๆ อย่าลืมทำความเข้าใจข้อดีและข้อเสียของเครื่องมือการลงทุนประเภทนี้ เพื่อจะได้ตัดสินใจอย่างรอบคอบได้ว่า คุณเหมาะกับการซื้อขาย DW หรือไม่

 

ข้อดีของ DW

     - DW เป็นเครื่องมือการลงทุนที่สามารถทำกำไรได้ในทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม

     - ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงนั้น ๆ โดยตรง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนมากขึ้น

     - DW จำกัดผลขาดทุน โดยนักลงทุนจะขาดทุนมากที่สุดเท่ากับจำนวนเงินที่ใช้ซื้อ DW ไปในครั้งแรกเท่านั้น

     - อีกหนึ่งข้อดี DW คือ สามารถเลือกลงทุนโดยอ้างอิงกับทั้งหุ้นรายตัว ดัชนีไทย และดัชนีต่างประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดพอร์ตใหม่

 

ข้อเสียของ DW

     - เป็นการลงทุนระยะสั้น ไม่สามารถหวังผลในระยะยาวเหมือนการลงทุนบางประเภท เพราะมีค่า Time Decay

     - หากถือ DW จนครบกำหนดอายุและไม่ใช้สิทธิ แม้นักลงทุนจะได้เงินสดส่วนต่าง แต่ต้องนำเงินจำนวนนั้นไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

     - เป็นการลงทุนที่มีความผันผวนสูง มีโอกาสได้กำไรมาก แต่ก็อาจขาดทุนเยอะเช่นกัน จึงต้องศึกษาเทคนิคการเลือก DW และข้อมูลต่าง ๆ ให้เพียงพอก่อนการตัดสินใจ

 

 

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน