รู้ก่อนก็เสี่ยงน้อยกว่า! สรุปปัจจัยที่มีผลต่อราคา DW ที่นักลงทุนควรรู้

2021-04-26

รวมปัจจัยที่มีผลต่อราคา DW ที่ทำให้การวางแผนลงทุนสะดวกขึ้น!

ประเด็นสำคัญ

#1. มาทำความเข้าใจกับคำว่า Call และ Put ก่อน

#2. รวม 4 ปัจจัยที่มีผลต่อราคา DW

 

  ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การรู้วิธีบริหารความเสี่ยงที่ดีจะช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับ DW หรือ Derivative Warrant ที่มีความผันผวนของราคาที่ค่อนข้างสูง โอกาสสร้างผลตอบแทนและขาดทุนนั้นเรียกได้ว่า “ห่างกันไม่ถึงอึดใจ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต่อให้ราคา DW จะผันผวนสูงแค่ไหน นักเทรดไม่ว่าจะมือใหม่หรือเก่าก็สามารถคาดการณ์ราคาได้จากปัจจัยที่มีผลต่อราคา DW ซึ่งในแต่ละปัจจัยจะส่งผลต่อราคาได้อย่างไรนั้น เรามาพิจารณาไปพร้อมๆ กัน

มาทำความเข้าใจกับคำว่า Call และ Put ก่อน

    จริงอยู่ว่า การเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อราคาจะช่วยเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่หากนักเทรดยังไม่เข้าใจปัจจัยพื้นฐานอย่างการซื้อขายช่วงขาขึ้นด้วย Call DW และช่วงขาลงด้วย Put DW การลงทุนซื้อขาย DW นั้นก็อาจไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ โดย J.P. Morgan ขอแยกความแตกต่างของทั้ง 2 คำเอาไว้ดังนี้

Call DW (C)  คือ สิทธิในการซื้อ DW ซึ่งราคาของ Call DW นั้นจะมีเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับหุ้นอ้างอิง โดยส่วนมากจะใช้เพื่อลงทุนในช่วงที่หุ้นหรือดัชนีมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น

Put DW (P) คือ สิทธิในการขาย DW ที่จะมีราคาสวนทางกับหุ้นอ้างอิง ด้วยเหตุนี้ Put DW จึงนิยมนำมาใช้เพื่อลงทุนเมื่อหุ้นมีแนวโน้มจะปรับตัวลง

 Investment Tips:

    รู้หรือไม่? DW กับ Warrant นั้นเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความแตกต่างกัน โดย DW จะสามารถซื้อขายได้ทั้ง Call และ Put ในขณะที่ Warrant จะสามารถลงทุนได้แค่แบบ Call อย่างเดียวเท่านั้น

    เมื่อตลาดมีความผันผวนสูงมาก Market Maker หรือผู้ดูแลสภาพคล่องอาจไม่ออก Put DW ออกมาให้ลงทุน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยง  (Delta Hedge) ในการออก Put DW จะต้องใช้การยืมหุ้นจากที่อื่นมาขาย หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า การ Short Sell หรือ “Short หุ้น” แต่แหล่งที่มีหุ้นให้ยืมกลับไม่มีให้ยืมด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ นั่นจึงทำให้ Put DW มีแนวโน้มออกมาให้ลงทุนได้ยากกว่า

รวม 4 ปัจจัยที่มีผลต่อราคา DW

    เมื่อเข้าใจว่า Call DW เหมาะกับช่วงที่ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวสูงขึ้น และ Put DW เหมาะกับช่วงที่ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวลดลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การวางแผนลงทุนให้มีประสิทธิภาพนั้นก็สามารถทำได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ผ่านการเข้าใจ 4 ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา DW ดังนี้

1. ความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิง

    หนึ่งในปัจจัยที่มีผลโดยตรงกับราคา DW คือ ราคาของสินทรัพย์ที่ DW ตัวนั้น ๆ ไปอ้างอิง และเมื่อสินทรัพย์ถูกซื้อขายบนกระดาน ราคาของ DW ก็จะเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน โดยถ้ามองว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงนั้นจะปรับตัวสูงขึ้น ควรเลือก Call DW ในขณะที่หากมองราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวลดลง ควรเลือก Put DW อย่างที่อธิบายไปข้างต้น

    และเมื่อราคาสินทรัพย์นั้นมีความผันผวนมาก ราคาของ DW ก็จะมีสูงขึ้นตาม ซึ่งความผันผวนนี้จะบ่งชี้ได้ 2 ประการ คือ โอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ โอกาสในการขาดทุนก็สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งสามารถพิจารณาและคาดการณ์ความผันผวนส่วนนี้้ได้จาก Implied Volatility และ Historical Volatility ที่ออกโดยผู้ออก DW เพื่อบริหารความเสี่ยงของ DW ตัวนั้น ๆ

Historical Volatility คือ ความผันผวนของราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงย้อนหลัง ในอดีต

Implied Volatility คือ ความผันผวนแฝงหรือมุมมองของผู้ออกที่มีต่อความผันผวนของราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงในอนาคต โดยอ้างอิงจากราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิงย้อนหลัง ที่ทางผู้ออกเลือกที่จะนำมากำหนดราคาในการขาย DW

 Investment Tips:

    ความผันผวนของ DW จะช่วยให้นักเทรดเลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสม เช่น หากพบว่า Implied Volatility ต่ำ ราคา DW จะถูกกว่า โดยหากเปรียบเทียบดู DW ตัวนั้น ๆ ก็จะมีความน่าสนใจ แต่ถ้า Implied Volatility สูง ราคา DW ก็จะแพงกว่าโดยเปรียบเทียบ

    แต่การพิจารณาค่าความถูกแพงของ DW นั้นต้องพิจารณาบนหลักทรัพย์อ้างอิงและอายุของ DW ที่เท่ากัน แต่ถ้าดูปัจจัยอื่นนอกเหนือจากความถูกแพงแล้วยังเห็นว่าน่าลงทุน นักลงทุนก็ควรเลือกลงทุนใน DW ตัวนั้นอย่างเข้าใจถึงปัจจัยความเสี่ยง

 2. อายุของ DW ที่ถือ 

    นักลงทุนหลายคนอาจมองว่า ยิ่งถือ DW นานเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็ยิ่งดีเท่านั้น แต่ลองเปรียบเทียบง่าย ๆ สินค้าราคาแพง ผลตอบแทนสูง หากใกล้หมดอายุเท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากอายุของ DW มากนัก เพราะในความเป็นจริงแล้ว สิทธิในการซื้อขาย DW นั้นมีวันหมดอายุ ซึ่งอายุคงเหลือของ DW มากเท่าไหร่ ราคา Call DW และ ราคา Put DW นั้นจะมีแนวโน้มที่สูงกว่า DW ที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า

3. อัตราดอกเบี้ย (Risk Free Rate)

    อัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ Call DW  และ Put DW เพราะดอกเบี้ยนั้นเป็นตัวบ่งบอกค่าเสียโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์อื่น แทนที่จะลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ โดยสามารถอธิบายได้จากมุมมองของนักลงทุนและผู้ออก DW ดังนี้

มุมมองของนักลงทุน

ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนใน Call Warrants จะน่าสนใจกว่าการลงทุนในหุ้น เนื่องจากการลงทุนใน Call Warrants ใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่า ดังนั้น นักลงทุนสามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ฉะนั้นแล้วราคาของ Call Warrants จึงปรับตัวสูงขึ้น แต่สำหรับการขายหุ้น นักลงทุนจะทำการขายหุ้นอ้างอิงแทนที่จะซื้อ Put Warrants เพื่อถือเงินสดไปลงทุนเพื่อรับดอกเบี้ย ดังนั้น ราคาของ Put Warrants จะปรับตัวลดลง

มุมมองของผู้ออก

อัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบกับราคา DW ผ่านทางต้นทุนทางการเงิน โดยทั่วไปเมื่อนักลงทุนซื้อ Call DW ผู้ออกจะต้องบริหารความเสี่ยงโดยการซื้อหุ้นอ้างอิง ซึ่งทำให้มีต้นทุนเกิดขึ้น และต้นทุนเหล่านี้ก็จะสูงขึ้นถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ราคา DW เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ในทางกลับกันจะทำให้ราคา Put DW ลดลง

กล่าวโดยสรุป

เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ราคา Call DW จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่ลดลงของนักลงทุน (เมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นแม่) และต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ออก ในขณะที่ ราคา Put DW จะลดลง

4. ราคาใช้สิทธิ (Exercise Price)

    ราคาใช้สิทธิ คือ ราคาที่หลักทรัพย์อ้างอิงที่สามารถซื้อหรือขายได้เมื่อทำการใช้สิทธิซื้อใน Call DW หรือสิทธิขายใน Put DW โดยราคาใช้สิทธิหรือ Exercise Price จะรู้จักกันในอีกชื่อคือ Strike Price นั่นเอง ซึ่งผลตอบแทนจากการสิทธินั้นจะสามารถคิดได้ 2 วิธีดังนี้

สิทธิการซื้อในช่วงขาขึ้น (Call)

ผลตอบแทน = (ราคาอ้างอิง – ราคาใช้สิทธิ) x อัตราการใช้สิทธิต่อหน่วย

 

สิทธิการขายในช่วงขาลง (Put)

ผลตอบแทน = (ราคาใช้สิทธิ – ราคาอ้างอิง) x อัตราการใช้สิทธิต่อหน่วย

*อัตราการใช้สิทธิต่อหน่วย = จำนวนหุ้นต่อ 1 หน่วย DW

 

 Investment Tips:

    จากสมการทั้ง 2 ด้านบนเราจะพบว่า

    หากราคาใช้สิทธิของ Call DW มีค่าสูงทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่ราคาหุ้นอ้างอิงต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ และทำให้เราไม่สามารถใช้สิทธิได้ (Out-of-the-Money)

    หาก Put DW มีราคาใช้สิทธิสูงจะทำให้มีโอกาสสามารถใช้สิทธิได้ (In-the-Money) เพิ่มขี้น

    จริงอยู่ว่า สำหรับการลงทุน DW นั้น ผู้ออกจะทำการกำหนดราคาใช้สิทธิตั้งแต่ก่อนซื้อขาย ซึ่งราคาใช้สิทธิที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อราคาหุ้นอ้างอิงและราคา DW ได้ 2 ประการ

หากราคาใช้สิทธิสูง

    - Call DW มีแนวโน้มจะลดลง

    - Put DW มีแนวโน้มสูงขึ้น

หากราคาใช้สิทธิต่ำ

    - Call DW มีแนวโน้มจะสูงขึ้น

    -  Put DW มีแนวโน้มลดลง

 

    แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยกำหนดราคาที่กล่าวมาข้างต้น เป็นมุมมองในแง่ของการกำหนดราคาทางทฤษฎีเท่านั้น การเคลื่อนไหวของราคา DW อาจเกิดจากปัจจัยในด้านความต้องการซื้อและความต้องการขายของนักลงทุนในตลาดซึ่งอาจส่งผลให้ราคาของ DW เคลื่อนไหวแตกต่างจากราคาทฤษฎี ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง

    สุดท้ายนี้ ต่อให้ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงมากเพียงใด ถ้าหากนักลงทุนเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อราคาซื้อขายแล้ว การบริหารความเสี่ยงพร้อมวางแผนลงทุนก็เป็นสิ่งที่ทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ต้องการมากขึ้น และหากใครกำลังมองหา DW ที่สามารถเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนได้จากการลงทุนราคาหลักร้อย และได้รับการออกโดยสถาบันการเงินระดับโลกที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาอย่าง J.P. Morgan สามารถเลือกเทรดกับ DW41 พร้อมเช็กตารางราคา เพื่อสร้างผลตอบแทนได้กับนักลงทุนสถาบันที่คุณวางใจได้แล้ววันนี้